วิธีย้ายต้นกล้าผักแบบง่าย ๆ

 

ด้วยความเป็นผู้หญิงชอบกินผัก แต่ไม่กินหญ้า ทุกคราที่เห็นคนอื่นปลูกผักแล้วอิจฉา อยากลิ้มลองความสด กรอบของผักที่เติบโตจากสองมือของตัวเองบ้าง จึงทำให้เกิดอารมณ์เข้าสู่โหมดเกษตรในยุคโควิดขึ้นมาในฉับพลัน ในขณะเดียวกัน..ต้องขอออกตัวก่อนนะคะว่า คุณนายหมู ไม่ได้เป็นผู้รู้ในวิชาการด้านการเกษตรเลย แต่ผลจากการลงมือทำแบบง่าย ๆ แล้วได้กินผักที่ปลูกเองจริง จึงยินดีนำมาแบ่งปันความรู้สำหรับผู้เริ่มต้นค่ะ

เมื่อคุณนายหมูมีใจกล้าบ้าเสี่ยง ลงมือเพาะเมล็ดผักกวางตุ้ง กับคะน้าได้ประมาณ 28 วัน เมล็ดที่ถูกหว่านลงในพื้นที่จำกัด ก็เจิดจรัสแตกยอดอ่อนจนเกิดใบผักเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “ต้นกล้า” ขึ้นมาเต็มแน่นกระถาง มันอดไม่ได้ที่จะอมยิ้มสวย ๆ คนเดียวทุกครั้งที่มอง เมื่อต้นกล้ามีใบแท้ขึ้นมา นั่นหมายถึง เจ้าต้นกล้าน้อย ๆ พร้อมที่จะสังเคราะห์แสง พร้อมที่จะถูกแยกเดี่ยวลงดินเพื่อหาอาหารเอง และรอการเติบโตต่อไป


ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการย้ายต้นกล้าทุกชนิด ควรทำในช่วงเช้าตรู่ หรือเวลาบ่ายแก่ ๆ ใกล้เย็นนะคะ เพราะเมื่อย้ายเสร็จ ต้นกล้าน้อย ๆ ที่ถูกปรับสภาพจะได้พักผ่อน หากทำตอนกลางวัน นอกจากจะต้องปรับสภาพตัวเองแล้ว ยังต้องสู้กับแดดแรง ๆ โอกาสเฉา และไม่รอดสูงแน่นอนค่ะ


วัสดุ อุปกรณ์ในการย้ายต้นกล้า

  1. ดินถุง หาซื้อได้ทั่วไป (ควรเป็นดินผสมใบก้ามปู) หรือบางคนอาจจะปรุงดินไว้ใช้เองก็จะดีมาก

  2. ภาชนะ กระถาง หรือถ้ามีพื้นที่ อาจย้ายลงแปลงปลูกได้เลย

  3. ช้อนปลูก ส้อมพรวนดิน หรืออุปกรณ์ดัดแปลงตามสะดวก


วิธีย้ายต้นกล้า  (ภาพประกอบด้านล่าง)

  1. เตรียมดินใส่ให้เกือบเต็มภาชนะ ควรเหลือพื้นที่เวลารดน้ำจะได้ไม่ล้น

  2. ถ้าต้องการผสมปุ๋ยหมัก หรือปุ๋ยคอกชนิดแห้ง ควรใส่เพียง 1 ส่วนเท่านั้น อย่าใส่เยอะ ถ้าไม่มีก็ไม่จำเป็นต้องใส่ค่ะ จับคลุกเคล้าผสมรวมกัน รดน้ำพอชุ่ม

  3. ทำดินให้เป็นรูลึกลงไปสำหรับปลูกต้นกล้าที่คัดแล้ว ควรเว้นระยะห่างกันเกิน 1 คืบ 

  4. ใช้ช้อนปลูกค่อย ๆ แซะต้นกล้าจากขอบกระถาง โดยแซะขึ้นมาทั้งก้อนดินอย่างเบามือ อย่าให้กระทบกระเทือนต่อรากมากนัก

  5. ค่อย ๆ จับคัดแยก เลือกต้นที่สมบูรณ์ ปักลงดินอย่างเบามือ โดยใช้นิ้วบีบดินเข้าหาต้นกล้าให้พอแน่น เพื่อเป็นการช่วยค้ำ ประคองลำต้นอ่อน ไม่ให้ล้ม

  6. ถ้ามีเศษฟาง นำมาคลุมหน้าดินไม่ให้แห้งก็ได้ ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร 

  7. รดน้ำเบา ๆ ระวังต้นกล้าช้ำ วางในที่ร่มก่อน เพื่อรอปรับสภาพ


ฝากไว้จดจำแบบง่าย ๆ *** พืชกินผล ควรได้แดดเต็มวัน..พืชกินใบ ควรได้แดดอย่างน้อย ๆ ครึ่งวัน ***


จากนั้น ก็คอยเฝ้ารดน้ำ ใส่ปุ๋ยที่ได้จากเศษอาหารที่เหลือกินเหลือใช้บ้าง หรือจะเป็น EM จุลินทรีย์สูตรต่าง ๆ ที่ปลอดภัยไร้เคมี รอเวลาที่ผักเติบโตประมาณ 1 เดือน หรือ 45 วัน


เตรียมดิน ใช้ไม้ทำเป็นรูสำหรับปักต้นกล้า

ค่อย ๆ แซะดินขึ้นมา โดยให้ต้นกล้าติดอยู่ที่ดิน

แซะให้ได้แบบนี้ แล้วประคองคัดต้นที่สมบูรณ์มาปลูก

ค่อย ๆ จับลงดิน อย่าให้รากขาด

ใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้ บีบดินเข้าหาลำต้นให้พอแน่น

   
  ต้นโหระพาที่ได้จากร้านส้มตำ นำไปปักชำในน้ำแล้วเกิดราก ตอนนี้โตแน่นกระถาง จึงต้องนำมาลงดิน

จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ใช้แค่ฝาเดียว ผสมน้ำถังเล็ก (ประมาณ 2 ลิตร)
นำไปรดสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือ 2 สัปดาห์ 1 ครั้ง


🌿เห็นมั้ยคะ การปลูกผักกินเอง ย่อมเป็นเรื่องดีงาม ใคร ๆ ก็ทำได้ในวิธีง่าย ๆ เพียงแค่นี้ไม่ว่าจะสถานการณ์ใด ๆ คุณก็ทำเกษตรวิถีใหม่ในยุค New Normal ได้ ที่สำคัญ ผักที่เก็บมา เพียงแค่ล้างดินล้างฝุ่น ก็กรุบกรอบดีต่อใจแล้วค่ะ❤

เกี่ยวกับผู้เขียน : มีความเป็นผู้ยิ้งงง.. ผู้หญิง ที่ชอบสิงในความอิสระ🌿ธรรมชาติ🌾และไม่พลาดความอร่อย


ติดตามผลงาน หรือทักทายกันได้ที่

Blog : 👉 คุณนายหมู กูรูบางเรื่อง

Instagram 👉 คุณนายหมู กูรูบางเรื่อง

Facebook 👉 rose napassorn

Line ID : mooyokosung >> http://line.me/ti/p/RUAB56bvmw

E-mail  : napassorn.cpd@gmail.com

————————

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เตทีเฮ้าส์ The' Tea House หัวหิน

Day 2 ช่วงบ่าย : พักร่างกลางหุบเขา 🍂 ทริปเที่ยวเชียงใหม่ ขับรถไปเอง 5 วัน 4 คืน

เนยสดกับเนยผสม ต่างกันยังไง